ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถือเป็นรากฐานและฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของมูลค่าการผลิต และเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ภาคการค้าและบริการ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่มี วิสาหกิจ SMEs มากเป็นอันดับสองของประเทศ วิสาหกิจชุมชนมากเป็นอันดับสี่ของประเทศ     และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโต แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงักลง ธุรกิจขาดสภาพคล่อง จึงเป็นจุดสำคัญที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนวัตกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเวที sCi to SMEs ให้ผู้ประกอบการพบนักวิจัย ภายใต้แนวคิด “ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” เพื่อหวังจะช่วยส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในพื้นที่ ให้สามารถเชื่อมโยงผลงานวิจัยที่มีศักยภาพออกสู่ตลาด เกิดการสร้างรายได้หมุนเวียนในอนาคต และกระบวนการพัฒนา SMEs อย่างเป็นระบบ อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้สูงขึ้นได้

ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศวท.-มช.) ได้สร้างกลไกสำคัญให้เกิดการขับเคลื่อนบริการวิทยาศาสตร์ ถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ ที่ต้องการพัฒนาระบบคุณภาพกระบวนการการผลิตสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ผลงานของนักวิจัยให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจมาโดยตลอด รวมถึงกิจกรรมสำคัญก่อนหน้านี้ คือการเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการพบนักวิจัย ซึ่งมีเหล่าคณาจารย์ กลุ่มนักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ Young SMEs + Farmer กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตร กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงิน มาร่วมพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ และออกบูธแสดงสินค้า ทั้งในกลุ่มด้านนวัตกรรมสุขภาพ กลุ่มสมุนไพรและเครื่องสำอาง กลุ่ม Garment-Fashion กลุ่ม Software – Innovation and Green Energy และการลงนามความร่วมมือระหว่าง ศวท-มช. และสมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการลงนามจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)ระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีกด้วย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงที่ครบวงจรให้กับผู้ประกอบการธุรกิจทุกภาคส่วน บนแนวทางตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์เร่งด่วน 3 ด้าน คือ ด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงานมุ่งสู่เมืองอัจฉริยะ ด้านอาหารสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ และการเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านล้านนาสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความร่วมมือ ต่อยอดการสร้างงานจากห้องปฏิบัติการสู่ผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริง ร่วมขับเคลื่อนงานบริการทางวิทยาศาสตร์สู่ผู้ประกอบการไทยในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ  เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีไปพัฒนาระบบคุณภาพกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก อันจะเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริม SMEs ได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here