กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ดำเนินโครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยีโครงการแผนการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร ด้วยแนวทางมาลัยวิทยสถาน อว.” ชี้ผลสำเร็จพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (วทน.)  สร้างรายได้ให้เกษตรกร/ผู้ประกอบการ มีรายได้เพิ่มมากกว่า 60 %  ลดต้นทุนการผลิต สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน หนุนใช้ผลสำเร็จงานวิจัยเป็นพื้นที่ต้นแบบสู่การเรียนรู้เชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ของประเทศอย่างยั่งยืน

นายสายันต์  ตันพานิช  รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า จากการที่ วว. ได้ดำเนินงานโครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยีโครงการแผนการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร ด้วยแนวทางมาลัยวิทยสถาน อว.” มาตั้งแต่ปี 2564 ประกอบด้วย 4 กิจกรรมย่อย คือ 1.การพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ 2.การพัฒนาปัจจัยการผลิตในการทำเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ 3.การยกระดับระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ และ 4.การพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ไม้ตัดดอกและไม้ประดับกระถางส่งตรงผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อติดตามการดำเนินงานในส่วนของโครงการและเยี่ยมชมการพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้วยแนวทางมาลัยวิทยสถาน  ระหว่างวันที่  1-2  มิถุนายน   2565   คณะผู้บริหารและนักวิจัย  วว. นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิของ   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ   ประกอบด้วย  ดร.จันทรวิภา   ธนะโสภณ  รศ.ดร.อำไพวรรณ  ภราดร์นุวัฒน์  รศ.ดร.สุรียา  ตันติวิวัฒน์ พร้อมด้วย นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ลงพื้นที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

“…การดำเนินงานโครงการดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเลย มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 60% นอกจากนี้ยังทำให้ลดต้นทุนการผลิต โดยมีการพัฒนาชุดอบไอน้ำสำหรับวัสดุปลูกและการพัฒนาต้นพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับปลอดโรค ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและเกิดความเข้มแข็งกับชุมชน นอกจากนี้ในการดำเนินโครงการยังช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีเครือข่ายเข้มแข็ง มีการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และข้อมูลการผลิตไม้ดอกไม้ประดับไปยังพื้นที่อื่นๆ มีการส่งต่อข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ไปยังผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีช่วยยืดอายุผลผลิตไม้ตัดดอกและไม้กระถางส่งตรงถึงผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคและเกษตรกรสามารถซื้อขายกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ..” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวเพิ่มเติม

นางสาวณัฐริกา  ศรีสวัสดิ์  หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านแก่งไฮ อำเภอภูเรือ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน วช. และ วว. ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องโรคในดิน เรื่องแมลงศัตรูพืช โดยขณะนี้มีการพัฒนาเรื่องการอบดิน เพื่อไม่ให้ต้นคริสต์มาสเกิดโรคและเสียหาย  ได้อัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้น  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการวิจัย คาดว่าผลที่จะได้รับคือ  ไม้ดอกจะไม่เสียหาย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพที่ดีขึ้น รวมถึงการมีดอกใบที่สวยพร้อมส่งออกไปทั่วประเทศ กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเลยภูมิใจที่ วว. และ วช. เข้ามาสนับสนุนส่งเสริม

สำหรับจังหวัดเลยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงเมืองหนึ่งของประเทศ เนื่องจากมีวัฒนธรรมที่โดดเด่น และมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเพาะปลูกพรรณไม้เมืองหนาวหลากหลายสายพันธุ์ ส่งผลให้มีกลุ่มเกษตรกรทำการเพาะเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่อำเภอภูเรือและอำเภอด่านซ้าย เป็นแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญและขนาดใหญ่สุดของประเทศ มีไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายชนิดและสายพันธุ์ โดยเป็นพรรณไม้ดอกไม้ประดับที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเลย ซึ่งมีอยู่หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ต้นคริสต์มาส ดอกเบญจมาศ สับปะรดสี และพรรณไม้อวบน้ำ ดังนั้นจังหวัดเลยจึงเป็นพื้นที่ต้นแบบสู่การเรียนรู้เชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here