ในปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และผู้ผลิตสินค้าไทยอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ ที่หลายรายพยายามหาช่องทางการสร้างรายได้เสริมจากภาวะวิกฤตินี้ ขณะในมุมกลับกันตอนนี้เศรษฐกิจจีน เติบโตอย่างสวนกระแส จึงเป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ของไทย จะได้เพิ่มช่องทางในการหารายได้จากสินค้าผลิตภัณฑ์ในพื้นที่เที่ยวของตน รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับเข้ามาเที่ยวไทยอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิดสงบลง     

 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) หรือ ทีเส็บ จึงได้ร่วมกับพันธมิตร จัดงาน GTEC DIGITAL CHINA CONFERENCE เพื่อให้เกิดการบูรณาการการสร้างเวทีประชุมสัมมนา เพื่อให้ความรู้และข้อแนะนำในการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ ได้มีโอกาสใช้งานดังกล่าว เป็นเวทีในการพัฒนาต่อยอดสินค้าบริการในพื้นที่ของตนรองรับพฤติกรรมความต้องการของลูกค้าชาวจีนในอนาคต รวมถึงคำแนะนำในการหาช่องทางการขายไปยังกลุ่มผู้ซื้อจากจีนผ่านช่องทาง Online

 นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) กล่าวถึงการจัดงาน GTEC DIGITAL CHINA CONFERENCE ในปีนี้ว่า การจัดงานในปีนี้ ทีเส็บได้บูรณาการการจัดงานร่วมกันกับ Thailand E-Business Centre (TEC) ศูนย์ e-Business Center  ด้านการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ แห่งแรกของไทย รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชนและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการเชื่อมโยงสินค้าและบริการไปยังตลาดจีนหลายท่าน

โดยทีเส็บคาดหวังให้งาน GTEC DIGITAL CHINA CONFERENCE เป็นงานศูนย์กลางการประชุมสัมมนา เพื่อเจรจาจับคู่นานาชาติของสินค้า บริการจากชุมชนและ SME ของภูมิภาค GMS หรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ในอนาคต โดยการใช้กลไกไมซ์เป็นเครื่องมือ ให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการสินค้า และบริการจากชุมชนเข้ากับระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แนวคิด “ระเบียงเศรษฐกิจดิจิทัล” ที่จะก่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงกันทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งทีเส็บมีแผนพัฒนางาน GTEC DIGITAL CHINA CONFERENCE สู่งานศูนย์กลางการพัฒนาสินค้าและบริการ SME ระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เกิดการติดต่อค้าขายสินค้าและบริการของประเทศในกลุ่มCLMVT เข้ากับ Platform Ecommerce จากจีน โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงาน และทีเส็บ มีบทบาทในการเป็นผู้ร่วมสร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือ Cocreator of business opportunities ผ่านการจัดงานไมซ์ โดยโครงการ GTEC จึงเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนอีกงานหนึ่ง

สำหรับการจัดสัมมนา GTEC DIGITAL CHINA CONFERENCE จัดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ณ TRUE DIGITAL PARK ภายในงานจะมีกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจจีน ด้าน eCommerce และการท่องเที่ยวและไมซ์, ความสำเร็จ และความล้มเหลว ในการประกอบธุรกิจ Ecommerce ในจีน, แนวโน้มตลาด ecommerce จีนยุค New Normal, Chinese Customer Behavior เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคจีน, การถามตอบเกี่ยวกับการเชื่อมโยงตลาด ECommerce จีน และกิจกรรมทดลอง วิเคราะห์และประเมินสินค้าโดยชาวจีนและชาวไทย (Chinese test) รวมถึงการจับคู่ทางการค้ากับนักธุรกิจไทย รวมถึง การออกบูธของผู้ประกอบการไทย และชุมชนท่องเที่ยว

 โดยเป้าหมายการจัดงานเพื่อเป็นเวทีในการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือพัฒนาสินค้า บริการให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ ได้ทราบถึงพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคตลาดจีนว่า จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ตลาดจีนต้องการสินค้าประเภทใด และมีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการขายสู่ Platform Online จีน ได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงสู่ตลาด E-commerce ของประเทศจีน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยบางราย ไม่ประสบความสำเร็จในการต่อยอดสินค้า และบริการบน Platform Ecommerce ของจีน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก

 สำหรับแผนงานในการดำเนินในปีหน้า ทีเส็บ มีแผนร่วมกับพันธมิตร ในการเตรียมการเชื่อมโยงนักเดินทางชาวจีนกับชุมชนในอนาคตเพิ่มเติม โดยการลงพื้นที่จัดกิจกรรม GTEC Workshop สัญจร ในจังหวัดที่เป็นจังหวัดยอดนิยมของชาวจีนรอบกรุงเทพฯ เพื่ออบรมให้ความรู้แก่ชุมชน ได้เข้าใจพฤติกรรมการให้บริการด้านการท่องเที่ยวและไมซ์แก่ชาวจีน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนในการเตรียมรองรับนักเดินทางจีนในอนาคต โดยจะดำเนินการวางแผนเพื่อทำการโปรโมตชุมชนที่มีความพร้อมในการรองรับนักเดินทางไมซ์ชาวจีน เพื่อเป็นการสร้างการรู้ถึง New Destination ใหม่ให้แก่ชาวจีน รวมถึงสร้างความประทับใจใหม่ ในการเดินทางลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับร่วมกับชุมชน ภายหลังการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักเดินทางจีนในอนาคต

 นี่จึงเป็นโอกาส ที่ผู้ประกอบการไทยจะได้เรียนรู้ และเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ เพื่อเจาะกลุ่มตลาดจีน และเตรียมความพร้อม ก่อนที่นักเดินทางชาวจีนจะเดินทางกลับมาในไทยอีกครั้ง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here