หนี้สินครัวเรือนเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ยิ่งในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบกับรายได้ของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนไม่มีท่าทีว่าจะลดลง ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน
จากความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ภายใต้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมบังคับคดีและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ดำเนินการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน” มาแล้ว 60 ครั้ง และจากข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ค.65 โดยภาพรวมพบว่ามีลูกหนี้ขอไกล่เกลี่ยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 51,145 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 48,523 ราย คิดเป็นร้อยละ 94.87 รวมทุนทรัพย์กว่า 10,162 ล้านบาท สามารถลดค่าใช้จ่ายของการฟ้องร้องคดีของประชาชนไปกว่า 4,358 ล้านบาท
โดยการจัดงานที่ผ่านมาได้นำร่องในกลุ่มลูกหนี้ กยศ. ข้าราชการครูและตำรวจที่กู้ยืมจากสหกรณ์ ซึ่งมีความคืบหน้าและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของลูกหนี้อื่นๆ ที่กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมบังคับคดีได้ขับเคลื่อนเรื่องการเจรจาแก้หนี้และประนอมหนี้ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้เป็นตัวกลางออกมาตรการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ และการรวมหนี้เพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ มี 14 ธนาคารที่สามารถยื่นขอรวมหนี้ภายในธนาคารหรือต่างธนาคารได้แล้ว คือ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกร เกียรตินาคิน ซีไอเอ็มบีไทย ทหารไทยธนชาติ ทิสโก้ ไทยพาณิชย์ ยูโอบี แลนด์แอนเฮ้าส์ ไอซีบีซี ออมสิน และอิสลามแห่งประเทศไทย ส่วนที่อยู่ในขั้นดำเนินการ คือ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย
ทั้งนี้ การจัดมหกรรมยุติธรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนฯทั่วประเทศ มีกำหนดจัดต่อเนื่องและเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม จึงขอเชิญชวนประชาชนที่มีคดีพิพาทก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษา ร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนและยุติธรรมพบประชาชน (4 ภาค) ประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใต้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมบังคับคดีและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์การแก้ไขหนี้สิน หนี้ กยศ. หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ รวมถึงร่วมกันหาทางออก ฝ่าวิกฤติ สร้างโอกาส ก้าวไปด้วยกัน ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77 / กรมบังคับคดี 02-881-4999 หรือสายด่วนกรมบังคับคดี 1111 กด 79 หรือ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 02-881-4840 และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 0 2141 2768-73

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here