โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) ภายใต้การนำขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ องค์กรภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนที่เป็นผู้นำด้านการกำหนดนโยบายและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพลาสติกของประเทศไทยทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ได้จัดงานแถลงข่าวผลงานและบทบาท PPP Plastics ร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ และ ผ่านทาง Facebook Live เพจของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมผนึกกำลังในการขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จบรรลุเป้าหมายหลักในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 บนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างยั่งยืนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากนี้ PPP Plastics ยังร่วมสนับสนุนการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติ BCG Model

โดยภายในงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ มาร่วมกล่าวแสดงความยินดีและปาฐกถาบทบาทภาครัฐในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศร่วมกับภาคธุรกิจไทย

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายวิรัช เกลียวปฏินนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมงานในฐานะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรร่วมก่อตั้งโครงการ PPP Plastics ร่วมกับองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) พร้อมทั้ง ได้ร่วมกล่าวถึงบทบาทภาคอุตสาหกรรมไทยในการร่วมมือขับเคลื่อน Road Map การจัดการขยะพลาสติก เพื่อให้ทุกท่านได้รับทราบถึงแนวทางบทบาทของภาคอุตสาหกรรมไทย

โดยในช่วงพิธีเปิดและแถลงข่าวผลงานและบทบาท PPP Plastics ร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยได้รับเกียรติจากผู้บริหารทั้ง 3 ท่านจาก 3 หน่วยงานหลัก ในการร่วมขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย ได้แก่

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะประธาน PPP Plastics มากล่าวต้อนรับและกล่าวว่า “บทบาท PPP Plastics กับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยผ่านการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การสร้างต้นแบบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการสร้างต้นแบบการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ต้นทางและครอบคลุมเรื่องระบบและนวัตกรรมที่จะช่วยนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ต่อยอดและขยายผลในระดับประเทศได้ ผ่านโครงการนำร่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพ เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบการบริหารจัดการขยะให้กับชุมชนเมืองอื่น ๆ ได้ทั่วประเทศ และจังหวัดระยอง เพื่อมุ่งสร้างระยองให้เป็นต้นแบบจังหวัดที่มีการจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน

การพัฒนานโยบายและกฎหมาย ได้ร่วมเป็นคณะทำงานทั้ง 3 ชุดภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อร่วมกำหนดมาตรการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้ง ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกของประเทศไทย ตามแนวคิด Material Flow Analysis สำหรับใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญของประเทศ ตลอดจนใช้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการนำเสนอในระดับนานาชาติได้ นอกจากนี้ PPP Plastics ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตร Circular Economy สำหรับอุดมศึกษาในทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย และด้านนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรมได้มีการดำเนินงานโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการทำถนนของประเทศไทยที่แข็งแรงและตอบโจทย์การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า”

นายวิรัช เกลียวปฏินนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาพลาสติกและขยะในประเทศไทย ภายใต้นโยบายสภาอุตสาหกรรมฯ One FTI. ที่มีแนวทางในการขับเคลื่อนให้ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าสู่การพัฒนาธุรกิจ ด้วยรูปแบบ BCG Model มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับ BCG โดยเฉพาะโครงการเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการขยะให้ครบวงจรที่สอดคล้องกับทิศทางเทคโนโลยีในอนาคตอยู่หลายโครงการ รวมถึง การร่วมผนึกกำลังร่วมกับ PPP Plastics ที่ดำเนินโครงการมาอย่างเข้มแข็งด้านการจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยหวังว่าการร่วมกับขับเคลื่อนด้านการจัดการแก้ไขปัญหาพลาสติกและขยะที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน และสร้างแรงผลักดันเชิงบวกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนในสังคมต่อไปในอนาคต”

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า “ปี 2564 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้น 2.76 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพียง 20% ส่วนที่เหลืออีก 77% ถูกทิ้งรวมเพื่อนำไปกำจัดกับขยะทั่วไป และ 3% ไม่ได้รับการจัดการทำให้ตกค้างในสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเล ปัจจุบันขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวในการที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยประเทศไทยมี Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) ที่ใช้เป็นทิศทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งทางบกและทะเลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายสูงสุด คือ “ขยะ” ต้องไม่ใช่ “ขยะ” เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกเล็ดลอดสู่ธรรมชาติ มุ่งเน้นจัดการ ณ ต้นทาง สร้างมูลค่าในห่วงโซ่การจัดการพลาสติก และประชาชนต้องให้ความร่วมมือเริ่มต้นที่ใช้ให้น้อยที่สุด ทิ้งให้ถูกที่ กำจัดอย่างถูกวิธี คัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ในได้มากที่สุดเพื่อให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าวได้มีการจัดพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานโครงการ PPP Plasticsระหว่าง ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ในนามองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ในฐานะประธานโครงการ PPP Plastics ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งประธานฯ มาตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ครบตามระเบียบวาระประธานที่กำหนดไว้ 2 ปี โดยเมื่อครบวาระจะมีการสลับกันระหว่างผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับผู้แทนจากองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะที่ทั้ง 2 องค์กรเป็นหน่วยงานหลักในการริเริ่มก่อตั้งโครงการ PPP Plastics ให้กับ นายภราดร จุลชาต ในนามกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสานต่อและขยายผลการดำเนินงานของ PPP Plastics ให้สำเร็จบรรลุเป้าหมายหลักทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานโครงการ PPP Plastics ในครั้งนี้ อีกด้วย

และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงพลังความมุ่งมั่นขององค์กรภาคธุรกิจไทย ผู้บริหารจากองค์กรสมาชิก PPP Plastics จึงได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ตอบโจทย์ทิศทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศ อันเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของสังคมไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในช่วงการเสวนา หัวข้อ “ต้นแบบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนกับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย” เป็นการนำเสนอข้อมูลกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ภายใต้ PPP Plastics ที่ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก โดยผู้รับผิดชอบแต่ละโครงการ ดังนี้

นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ กล่าวว่า “โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ PPP Plastics โดยดำเนินงานร่วมกับ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ต่อการคัดแยกขยะ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโมเดลการจัดการขยะ พร้อมทั้ง สนับสนุนองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาโมเดลดังกล่าว เช่น การพัฒนา Digital Platform และ การพัฒนา Sorting Hub ในพื้นที่ เป็นต้น”

นายคงศักดิ์ ดอกบัว กล่าวว่า “โครงการ AEPW – Thai PPP Bangkok Project เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุน จาก Alliance to End Plastics Waste มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บและคุณภาพของของขยะด้วย Digital Platform ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยในการพัฒนาโครงสร้างการจัดการขยะพลาสติก พร้อมทั้ง ส่งเสริมหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่เขตคลองเตย ดำเนินการโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมีสถาบันพลาสติกเป็นผู้จัดการโครงการ โดยได้นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของโครงการและการพัฒนา Infrastructure ต่าง ๆ ของโครงการด้วย”

นางสมจิตต์ นิลถนอม  กล่าวว่า “โครงการ “Rayong Less-Waste” (ระยอง เลสเวสท์) เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Alliance To End Plastic Waste เพื่อต่อยอดความสำเร็จโมเดลการจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนและการให้ความรู้ในโรงเรียน ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมครบทั้งจังหวัดระยอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้ประกาศนโยบายสนับสนุนเต็มที่ รวมถึง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อาทิ ท้องถิ่นจังหวัดระยอง สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และพันธมิตรในทุกภาคส่วนที่ช่วยผลักดันและยกระดับให้จังหวัดระยองเป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน ปัจจุบันโครงการมีการจัดทำ MOU ร่วมกับเทศบาลไปแล้วกว่า 35 อปท และ มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 228 โรงเรียน โดยมีการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำรายงานปริมาณพลาสติกและขยะที่คัดแยกได้ของแต่ละเทศบาลอย่างเป็นระบบและกำลังขยายผลไปสู่โรงเรียนตามลำดับ”

ดร.อรทัย พงศ์รักธรรม กล่าวว่า “โครงการ มือวิเศษ คูณ วน เป็นโครงการที่ดำเนินการรวบรวมถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกที่สะอาด แห้ง และยืดได้จำนวน 12 ชนิด โดยมีจุด Drop Point จำนวนรวมกว่า 300 จุด ทั้งในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อรวบรวมพลาสติกกลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิลและนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามวาระแห่งชาติ BCG Model และตอบสนองต่อเป้าหมาย Roadmap การจัดการพลาสติกของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทางโครงการฯ ได้รับปริมาณน้ำหนักเศษพลาสติกที่เก็บรวบรวมได้ทั้งโครงการจำนวน 27,037 กิโลกรัม ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการฯ สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน คำนวณลด CO2 Emission ได้ 24,000 กิโลกรัม (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) รวมถึง รายได้ที่ได้จากการรีไซเคิลพลาสติกสะอาดที่ได้รับจากโครงการกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจำนวนเงิน 136,400 บาท มอบให้กับ “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร” โดยได้ทำพิธีมอบเงินบริจาคภายในงานวันทะเลโลก ประจำปี 2565 เมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ณ บริเวณสวนสาธารณะ ลานโลมาชาย หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ให้กับ “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร” ภายใต้การดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก คืนความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศในท้องทะเลไทย”

นายประวิทย์ พรพิพัฒน์กุล กล่าวว่า “คณะทำงาน PPP Plastics มีภารกิจที่จะสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมเพื่อแก้ไขหรือลดปัญหาขยะพลาสติกที่จะถูกปล่อยลงทะเล ตามแนวทางของ Roadmap ประเทศไทยที่มุ่งนำพลาสติกที่ใช้แล้วกลับไปใช้ประโยชน์ จึงได้ดำเนินการขอทุนสนับสนุนจาก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) และได้รับความร่วมมือจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่วมผลักดันให้มีการใช้เศษพลาสติก เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการสร้างถนนยางมะตอยที่มีความแข็งแรง โดยไม่เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 PPP Plastics โดยสภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้ร่วมกันลงนามในสัญญา Tri-Party Contract ในโครงการ Recycled Plastics in Roads Study กับทาง AEPW” ภายใต้สัญญาTri-Party Contract มีการแบ่งงานออกเป็น 2 Phase โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการเสร็จสิ้นสำหรับ Phase-1 พบว่าการใช้เศษพลาสติกในสัดส่วนที่กำหนด เคลือบที่ผิวของกรวดก่อนที่จะผสมกับยางมะตอยในการทำถนน Asphalt Concrete สามารถช่วยให้ถนนมีความแข็งแรงกว่าเดิม โดยไม่เกิดปัญหาของการปลดปล่อยไมโครพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งในช่วงการก่อสร้างและการใช้งาน รวมทั้งสามารถนำเศษของวัสดุหลังจากรื้อถนนเมื่อใช้งานไปแล้วนำกลับมาวนใช้สร้างถนนใหม่ในสัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาจากผู้ให้ทุนวิจัยว่า จะขยายงานวิจัย ไปสู่ Phase-2 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยจะทำการศึกษาเก็บข้อมูลจากถนนต้นแบบเพื่อเก็บข้อมูลจากสภาวะการใช้งานจริง โดยใช้หัวข้อเดียวกันกับ Phase-1 และสรุปผลการศึกษาในเชิงการปฏิบัติสำหรับเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้นี้ ไปยังหน่วยงานต่างๆที่อยู่ในเครือข่ายของ AEPW และหน่วยงานอื่นๆทั่วโลก ที่มีความสนใจที่จะนำความรู้นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง

PPP Plastics โดยสภาอุตสาหกรรมฯ จะทำหน้าที่ดำเนินโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการโครงการ, การจัดหาเศษพลาสติกเพื่อใช้ในงานวิจัย,การศึกษาในเรื่องของปริมาณและส่วนผสมของเศษพลาสติกที่เหมาะสมในประเทศไทย, การจัดทำแนวทางในการเตรียมเศษพลาสติกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างถนนยางมะตอย, การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท ในการจัดให้มีการสร้างถนนต้นแบบเพื่อการสาธิต รวมถึง การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากโครงการในประเทศไทยกับองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากโครงการในต่างประเทศซึ่งอยู่ในเครือข่ายของAEPW ทั้งนี้ ทาง AEPW ร่วมกับ PPP Plastics โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ยังมีเป้าหมายเพิ่มเติมที่จะขยายการศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศเวียดนาม ให้พร้อมที่จะขยายผลการทำวิจัยกับถนนสาธิตในประเทศเหล่านั้น ในอนาคตอันใกล้นี้”

ท้ายสุดนี้ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันให้สังคมไทยให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อันจะเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ท่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลประเด็นสำคัญภายในงานฯ ได้โดยการ Scan QR Code

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here