กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โชว์ศูนย์การเรียนรู้โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและเป็นต้นแบบสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบาย BCG ช่วยลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีของประเทศ

โดยเมื่อ พ.ศ. 2524 กระทรวงการคลังอนุมัติให้ วว. ดำเนินการก่อสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำ ที่มีความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99.5   โดยปริมาตรจากมันสำปะหลัง  โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันปิโตรเลียมบางส่วน ด้วยการนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินแล้วใช้เป็นน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษ  ช่วยลดการขาดดุลการค้า เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีของประเทศ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5  ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายของการนำแอลกอฮอล์มาใช้เป็นพลังงาน 35 ล้านลิตรต่อปี ภายใน พ.ศ. 2529

โรงงานต้นแบบเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2526  มีกำลังการผลิต 1,500 ลิตรต่อวัน   ใช้งบประมาณไปจำนวน 70  ล้านบาท  โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่นและศึกษากรรมวิธีการผลิตจากสมาคมอุตสาหกรรมหมักแห่งประเทศญี่ปุ่น  สำหรับการผลิตแอลกอฮอล์หรือเอทานอลจากวัสดุการเกษตร  ด้วยกระบวนการผลิตประหยัดพลังงาน  นับเป็นโรงงานแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว  วว. ได้ต่อยอดวิจัยพัฒนาและประสบผลสำเร็จในการศึกษาการใช้เอทานอลไร้น้ำเป็นเชื้อเพลิง  พร้อมทำการศึกษาด้านตลาด  โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท สองพลอย จำกัด และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย นำไปจำหน่ายในสถานีบริการ

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการทดลองตลาดผลิตภัณฑ์แก๊สโซฮอล์จากวัตถุดิบ  มันสำปะหลังสด  มันสำปะหลังเส้น และน้ำเบียร์ที่หมดอายุ  ส่งให้ บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยสามารถกลั่นเอทานอลไร้น้ำได้  168,000 ลิตร  นำไปผสมเป็นแก๊สโซฮอล์  สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงจำหน่าย ทดแทนน้ำมันเบนซินออกเทน  95  นอกจากนี้ยังให้บริการกลั่นแอลกอฮอล์ไร้น้ำให้กับ ปตท. เพื่อนำไปใช้ทดลองเป็นเชื้อเพลิงในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาด้วย

กระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำของ วว. สามารถลดการใช้พลังงานได้ในส่วนของขั้นตอนการเปลี่ยนแป้งโดยใช้เอนไซม์ที่อุณหภูมิต่ำ และขั้นตอนการกลั่นน้ำส่าให้เป็นเอทานอลไร้น้ำภายใต้แรงดันบรรยากาศ สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 40

กรรมวิธีการผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำโดยโรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำของ วว. มีดังนี้

1.การปรับสภาพวัตถุดิบ   ประกอบด้วย

-ใช้หัวมันสำปะหลังสดที่มีปริมาณแป้ง 28% จำนวน 9.3 ตันต่อวัน

-ปอกเปลือกมันสำปะหลังด้วยเครื่องล้างและสับลดขนาดด้วยเครื่องสับ

-ส่งมันสำปะหลังที่ปอกเปลือกและสับเข้าไปบดผสมกับน้ำที่เครื่องบด

-น้ำแป้งที่ได้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล โดยผ่านการย่อย 2 ขั้นตอน คือ การทำให้เป็นของเหลวด้วยเอนไซม์ย่อยแป้ง และความร้อนที่หม้อต้ม

-ทำการย่อยครั้งที่ 2 ด้วยเอนไซม์ Glucoamylase เพื่อเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลที่ถังย่อยน้ำตาล

  1. การหมัก ประกอบด้วย

–  การเลี้ยงเชื้อยีสต์   ดำเนินการในถังเลี้ยงเชื้อ โดยใช้กากน้ำตาล น้ำและสารอาหาร เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ จากนั้นนำเชื้อยีสต์ที่เตรียมไว้เทลงในถังเลี้ยงเชื้อ โดยจะใช้เวลาเลี้ยงเชื้อ 24 ชั่วโมง

–  การหมัก     เริ่มด้วยการส่งอาหารน้ำตาลที่เตรียมแล้วจากถังย่อยน้ำตาลไปยังถังหมัก จากนั้นจึงส่งเชื้อยีสต์จากถังเลี้ยงเชื้อที่ เตรียมไว้ไปยังถังหมัก โดยควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 30-32 องศาเซลเซียส และใช้เวลาในกระบวนการหมัก 72 ชั่วโมง

–  การกรองกากส่า   นำเชื้อยีสต์ที่ผ่านการหมักส่งไปกรองกากส่าด้วยเครื่องแยกกากตะกอน ก่อนที่จะนำไปกลั่นต่อไป

  1. การกลั่น เป็นกระบวนการทำบริสุทธิ์ด้วยการแยกของผสมหรือสารละลายโดยอาศัยจุดเดือดที่ต่างกัน ประกอบด้วยหอกลั่น 2 ชุด

-ชุดแรก  ใช้กลั่นน้ำส่าที่มีแอลกอฮอล์ประมาณ 8-12% โดยปริมาตร ให้ได้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 95.6% โดยปริมาตร

-ชุดที่สอง  ทำหน้าที่กลั่นแอลกอฮอล์ 95.6% โดยปริมาตร จากหอกลั่นชุดแรก ให้ได้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์หรือแอลกอฮอล์ไร้น้ำ ที่มีความเข้มข้น 99.5% โดยปริมาตรขึ้นไป หอกลั่นชุดนี้จะเป็นการกลั่นแบบอะซิโอโทรป    (Azeotropic distillation) โดยใช้เบนซีนหรือเฮกเซนเป็นสารจับน้ำ (Dehydrant) หลังจากผ่านการตรวจสอบคุณภาพที่ถังตรวจสอบแล้ว แอลกอฮอล์บริสุทธิ์จะส่งไปเก็บไว้ในถังเก็บแอลกอฮอล์ต่อไป

  1. การบำบัดของเสีย ดำเนินการกำจัดน้ำเสียก่อนระบายสู่ท่อระบายสาธารณะ โดยใช้วิธีการทำแห้งเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์  มีกระบวนการบำบัด  3  ขั้นตอน

-แยกกากออกจากส่วนที่เป็นของเหลว  เจือจางด้วยเครื่องแยกกาก โดยจะแยกน้ำเสียออกเป็นกากและน้ำ  ลงมาไว้ที่ถังเก็บ

-จากนั้นส่วนที่เป็นน้ำจากถังเก็บ   จะถูกส่งไประเหยให้ข้นโดยผ่านเครื่องระเหยและเครื่องแยก

-ส่วนที่เป็นกากจะนำไปผสมกับของเหลวข้น แล้วนำไปเข้าเครื่องทำแห้ง จะได้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งมีโปรตีนประมาณ 25%

ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิตเอทานอลในส่วนขั้นตอนการหมักและการทำแอลกอฮอล์ไร้น้ำ จากเดิมที่ดำเนินการหมักเป็นแบบกะ (Batch fermentation) มีการพัฒนารูปแบบของการหมัก ดังนี้

1.การหมักแบบกะ (Batch fermentation) เป็นกระบวนการหมักโดยการเติมวัตถุดิบ สารอาหารและหัวเชื้อ ลงไปในถังหมักเพียงครั้งเดียวตลอดการหมัก

2.การหมักแบบกึ่งกะ (Fed batch fermentation) เป็นกระบวนการหมักโดยการเติมวัตถุดิบ สารอาหารและหัวเชื้อลงไปในถังหมักมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์สามารถใช้วัตถุดิบและสารอาหารได้ในปริมาณที่สูงขึ้น

3.การหมักแบบต่อเนื่อง (Continuous fermentation) เป็นกระบวนการหมักโดยการเติมวัตถุดิบ สารอาหารและหัวเชื้อ ลงไปในถังหมักตลอดเวลา พร้อมทั้งมีการแยกผลิตภัณฑ์ออกมาตลอดเวลา ทำให้ผลิตผลิตภัณฑ์ได้สูงสุดในระยะเวลาเท่ากันเมื่อเทียบกับการหมักแบบกะและแบบกึ่งกะ

กรรมวิธีหรือเทคโนโลยีในการแยกน้ำเพื่อผลิตเอทานอลไร้น้ำ ปัจจุบันมีการใช้ 3 รูปแบบ

1.กระบวนการแยกด้วยวิธีการกลั่นสกัดแยกด้วยสารตัวที่ 3 (Azeotropic distillation) ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่นิยมใช้กันมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันยังมีการใช้งานเชิงพาณิชย์อยู่ แต่มีการปรับเปลี่ยนสารตัวที่ 3 (Entrainer) จากเดิมที่มีการใช้สารเบนซีน (Benzene) ได้เปลี่ยนมาใช้สารไซโคลเฮกเซน (Cyclo-hexane ) ซึ่งมีความเป็นพิษน้อยกว่าแทน

2.กระบวนการแยกด้วยวิธีกรองผ่านเยื่อเลือกผ่าน (Membrane pervaporation) โดยตัวเยื่อเลือกผ่าน (Membrane) จะทำหน้าที่กรองแยกน้ำและเอทานอลที่มีขนาดของโมเลกุลที่ต่างกันออกจากกัน

3.กระบวนการแยกน้ำด้วยวิธีการดูดซับ (Molecular sieve  adsorption) โดยน้ำที่ปนอยู่ในแอลกอฮอล์จะถูกดูดซับด้วยตัวตัวดูดซับที่มีรูพรุนสูง เช่น ตัวดูดซับ (Zeolite) ที่มีรูพรุนขนาด 3A และ 4A เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้นิยมใช้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำจากมันสำปะหลังแห่งแรกของประเทศไทย  วว. ได้ทำหน้าที่เป็นโรงงานต้นแบบผลิตพลังงานทดแทนให้แก่ประเทศรวม 20 ปี (พ.ศ.2526-2546) ปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว  เนื่องจากโรงงานผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลของภาคเอกชน  ซึ่ง วว. เป็นหน่วยงานสำคัญที่ผลักดันรัฐบาลอนุมัติให้มีการจัดตั้ง  ได้เริ่มดำเนินการผลิตและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันแก๊สโซฮอล์  ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ใช้อยู่ในขณะนี้  ด้วยศักยภาพของโรงงานแห่งนี้ วว. โดยการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ดำเนินการปรับปรุงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ด้านพลังงานทดแทนของประเทศต่อไป

ศูนย์การเรียนรู้โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำแห่งแรกของประเทศไทย วว. ตั้งอยู่เลขที่ 196  ถ.พหลโยธิน  เขตจตุจักร  กรุงเทพฯ วว. พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน  ของประเทศ  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่  โทร. 0 2577 9000  โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์  www.tistr.or.th  อีเมล  : tistr@tistr.or.th  line@TISTR  IG : tistr_ig

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here